Dr. Maria Montessori

maria_montessori

               Dr. Maria Montessori ไม่ได้เป็นเพียงผู้หญิงที่เสาะแสวงหาแนวทางการพัฒนาการศึกษาให้แก่
เด็กๆเท่านั้น เธอยังเป็นผู้มีจุดมุ่งหมายที่แน่วแน่ในชีวิตซึ่งอุทิศตนในการทำความเข้าใจถึงวิธีการและสาเหตุแห่งการเรียนรู้ของเด็ก

               ด้วยความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ของเธอ ทำให้เธอทำงานอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอน ไม่เคยมีการสุ่มเสนอทฤษฎีแบบง่ายๆ หากแต่มีการสนับสนุนทฤษฎีแนวคิดต่างๆโดยการหยิบยกประสบการณ์ตรงจากการสังเกตที่ได้จากการทำงานคลุกคลีอยู่กับเด็กๆ และเธอได้เปรียบผลงานของเธอว่าเป็น “เนื้อหาของงานวิจัย” ส่วนตัวเธอเองนั้นเป็นผู้ส่งสารจากเด็กๆ

               เมื่อมองย้อนกลับไปยังความสำเร็จของเธอในยุคสมัยนั้นแล้ว เป็นที่น่าสังเกตว่าความคิดของเธอนั้นถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ เนื่องจากในยุคต้นปี ค.ศ. ๑๙๐๐ นั้น ผู้คนมองความเป็นเด็กว่าเป็นเพียงภาชนะที่ว่างเปล่าที่รอการเติมเต็มจากผู้ใหญ่เท่านั้น กล่าวคือ การเรียนรู้ของเด็กจะต้องมีปัจจัยหลักจากภายนอกเท่านั้น ดังนั้นผู้ใหญ่จะต้องเป็นผู้ที่คอยควบคุมและช่วยเหลือด้านการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ระเบียบวินัยต่างๆของเด็กก็ต้องได้รับการกระตุ้นจากภายนอกเท่านั้น ไม่สามารถเกิดจากการวางรากฐานในวัยเด็กได้

               เมื่อตอนที่ Dr. Maria Montessori ได้เปิดโรงเรียนขึ้นเป็นของตนเองเป็นครั้งแรกและได้เริ่มทดสอบแนวคิดของเธอนั้น ผลที่ออกมาทำให้ทุกคนที่มีส่วนร่วมรู้สึกประหลาดใจเป็นอย่างมาก เมื่อมีเด็กๆจากชุมชนแออัดที่มีภูมิหลังที่ไม่ดีเลยซึ่งโดยทั่วไปมักจะถือว่าเป็นเด็กที่ควบคุมยาก เริ่มที่จะมีการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมในทางที่ดีโดยไม่มีผู้ใหญ่เข้าไปควบคุม ซึ่งผิดจากสิ่งที่คนส่วนใหญ่คาดไว้ ดูเหมือนว่ายิ่งเด็กมีอิสระที่จะเลือกกิจกรรมในการเรียนรู้ที่น่าตื่นเต้นของตัวเองภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ถูกจัดไว้ให้มากเท่าไหร่ พวกเขาก็จะมีความสุขและความสนใจในการเรียนรู้มากขึ้นเท่านั้น

               Dr. Maria Montessori เริ่มรู้สึกเชื่อมั่นขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อได้ค้นพบกุญแจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงด้าน สังคมนี้ และก็ได้อุทิศชีวิตของตนเองให้แก่การต่อสู้ เพื่อสิทธิของเด็กและเยาวชน หลังจากนั้นเป็นต้นมา

               Dr. Maria Montessori เกิดเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๗๐ในเมือง Chiaravalle จังหวัด
Ancona ประเทศอิตาลี่ และครอบครัวของเธอได้ย้ายเข้ามาอยู่ในกรุง Rome เมื่อเธออายุ ๑๒ ขวบ จากนั้นเธอได้แสดงถึงความเป็นตัวของตัวเองซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของเธอตลอดมา โดยการเข้าเรียนในโรงเรียนเทคนิคชายล้วน และได้ศึกษาวิชาการคำนวณ และวิชาวิศวกรรม  ความสนใจของเธอได้เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ  ซึ่งต่อมาเธอได้สนใจเรียนชีววิทยาเป็นอย่างมาก

                หลังจากนั้นเธอก็มีจิตใจอันแน่วแน่ที่จะศึกษาต่อในวิทยาลัยแพทย์แห่งหนึ่ง เพื่อที่จะเป็นแพทย์ให้ได้ แต่ก็ถูกปฏิเสธเนื่องจากความที่เธอเป็นผู้หญิง เธอได้พยายามเอาชนะอคติที่มีต่อความเป็นผู้หญิงในศตวรรษที่ ๑๙ นี้เรื่อยมา จนกระทั่งประสบความสำเร็จและต่อมาได้กลายเป็นผู้หญิงคนแรกของประเทศอิตาลี่ที่ได้รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตและมีคนจำนวนมากที่เรียกเธอว่า Dottoressa หรือ แพทย์หญิงจากนั้นเป็นต้นมา

                หลังจากเรียนจบแล้ว เธอได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยหมอที่คลินิกจิตแพทย์ในมหาวิทยาลัยแห่งกรุงโรม ซึ่งเป็นที่ที่เธอได้ทำงานกับเด็กพิเศษจำนวนมาก (ในขณะนั้นเรียกกันว่าเด็กปัญญาอ่อน, เด็กพิการทางสมอง) และเริ่มเกิดความสนใจอย่างลึกซึ้งในกระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆเหล่านั้น

                Dr. Maria Montessori เริ่มมั่นใจว่าเพียงการรักษาด้านร่างกายและการใช้ยานั้นยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เด็กพิการทางสมองนี้มีสภาพที่ดีขึ้นหากต้องมีการเพิ่มกระบวนการเรียนการสอนและการฝึกหัดแบบพิเศษจึงจะช่วยพวกเขาได้

maria-montessori

 

                Dr. Maria Montessori เริ่มทดลองโดยคอยเฝ้าดูพวกเด็ก ๆ ที่อยู่ในห้องที่ว่างเปล่าโดยไม่มีสิ่งใดให้จับถือ และสังเกตเห็นว่าพวกเขารู้สึกหดหู่กับสิ่งนี้มาก แต่หลังจากอาหารกลางวัน พวกเขาได้ใช้มือคุ้ยเขี่ยเพื่อค้นหาเศษขนมปังตามพื้น ซึ่งทำให้ Dr. Maria เห็นถึงการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมตามสัญชาติญาณโดยการใช้มือของพวกเขา โดยแนวคิดที่ว่า มือทั้งสองข้างเป็นหนทางแห่งการพัฒนาสติปัญญา นี่เองที่ ใช้เป็นแนวคิดหลักในกระบวนการเรียนรู้ของ Dr. Maria Montessori

                Dr. Maria Montessori ยิ่งเกิดความมั่นใจมากขึ้นว่าเธอสามารถช่วยเด็กพิการทางสมองเหล่านี้ได้ จึงเดินทางไปยังกรุงลอนดอนและปารีสเพื่อ ศึกษางานของ Jean Itard และ Edward Seguin ที่ได้ริเริ่มเรื่องเหล่านี้ไว้ ต่อมาแนวคิดและกระบวนการทำงานของทั้งสองก็ได้มีอิทธิพลอย่างมากต่อการทำงานของแนวคิดและการทำงานของเธอ

                Jean Itard (ค.ศ. ๑๗๗๕ – ๑๘๓๘) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงการปฏิวัติของฝรั่งเศส ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับผู้ที่หูหนวกและเป็นใบ้ โดยใช้ความพยายามเป็นเวลาหลายปีในการให้การศึกษาและอบรมสั่งสอนเด็กชายพิการทางสมองผู้หนึ่งซึ่งถูกทิ้งอยู่บริเวณป่า Aveyron

                มีรายงานการศึกษาของเขาฉบับหนึ่งซึ่งถูกเขียนขึ้นโดยใช้ชื่อว่า The Wild Boy of Aveyron (ตีพิมพ์ครั้งต่อมาโดย Lucien Malson ใช้ชื่อว่าWolf Children) ซึ่งเป็นหนังสือที่มีคุณค่าควรแก่การอ่านอย่างยิ่ง เนื่องจากมีรากฐานแนวคิดของ Montessori อยู่มาก

                Edward Seguin (Montessori: The Discovery of the Child) เป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของ Jean Itard ซึ่งต่อมาได้ก่อตั้งโรงเรียนสำหรับเด็กปัญญาอ่อนขึ้นในปารีส

                Edward Seguin กล่าวว่ากระบวนการของเขาเป็นกระบวนการด้านจิตวิทยา โดยเริ่มกระบวนการ
เรียนรู้จากระบบกล้ามเนื้อและประสาทสัมผัสคือเริ่มจากการสอนวิธีการเดินให้กับเด็กที่มีปัญหาในการเรียนรู้ และจากนั้นก็ค่อยๆแนะนำแนวทางการเรียนรู้ให้เด็กโดยใช้ชุดกิจกรรมที่มีความต่อเนื่องกันและเพิ่มความยากของกิจกรรมขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับ

                แรกเริ่มนั้น เขาสอนเด็ก ๆ ให้รู้จักการทรงตัวและความสมดุลในการเคลื่อนไหวร่างกาย เมื่อเด็กทำสำเร็จ ก็จะนำไปยังชุดทำกิจกรรมที่ยากขึ้นจนไปถึงกระบวนการคิดโดยใช้พื้นฐานด้านกล้ามเนื้อและประสาทสัมผัสซึ่งเป็นขั้นสุดท้าย

                กิจกรรมทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการฝึกประสาทสัมผัสทั้งห้า คือ รูป รส กลิ่น เสียง และ สัมผัส และโดยการใช้ประสาทสัมผัสเหล่านี้เด็กจึงสามารถสร้างมโนภาพความเป็นจริงของโลกขึ้นมาได้

               ท้ายที่สุดแล้วแนวคิดการเรียนรู้โดยใช้ประสาทสัมผัสนี้ก็กลายมาเป็นพื้นฐานของ กระบวนการเรียนรู้ตามแนวทางของ Montessori

               ในปีค.ศ. ๑๘๙๙ Dr. Maria Montessori ได้นำเสนอแนวคิดของเธอต่อสภาที่ประชุมเรื่องการเรียนการสอนแห่งหนึ่งที่จัดขึ้นในเมือง Turin เธอได้เสนอว่า ปัญหาการพัฒนาของเด็กพิการทางสมองนั้นอยู่ที่การเรียนการสอนไม่ใช่การรักษาโดยใช้ยา ซึ่งส่งผลให้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการมอบหมายให้เธอจัดหลักสูตรการอบรมให้แก่ครูผู้สอนเด็กพิเศษขึ้น

               ผลจากการอบรมครั้งนั้นทำให้มีการก่อตั้งโรงเรียน State Orthophrenic School สำหรับเด็กพิเศษขึ้นมา ในปี ๑๘๙๙ และ Dr. Maria ได้ทำการบริหารโรงเรียนนี้มาจนถึงปี ค.ศ. ๑๙๐๑ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เธอได้ทำงานอย่างเต็มที่  เธอได้ฝึกอบรมครู สอนเด็กพิเศษ ตลอดจนพัฒนาและทดสอบแนวทางการสอนและการใช้สื่อที่หลากหลาย ซึ่งแนวคิดในการใช้สื่อที่หลากหลายนี้เป็นอิทธิพลแรงจูงใจมาจากงานของ Jean Itard และ Edward Seguin (ใน History of the Method และ The Discovery of the Child)

               ด้วยกระบวนการเรียนการสอนของ Dr. Maria Montessori นั้น ทำให้เด็กพิเศษจำนวนหนึ่งสามารถประสบความสำเร็จในการอ่านได้ ซึ่งเธอได้เขียนไว้ในรายงานของเธอว่า “ฉันประสบความสำเร็จในการสอนเด็กปัญญาอ่อนจากบ้านเด็กพิการทางสมองให้อ่านออกเขียนได้เป็นอย่างดี จนสามารถสอบเข้าเรียนโรงเรียนของรัฐบาลได้เหมือนกับเด็กธรรมดาทั่วไป”(The Montessori Method, บทที่ ๒)

               ในช่วงที่ Dr. Maria Montessori ได้ทำการฝึกอบรมครูและทำงานอยู่ในบ้านเด็กพิการนั้น เธอได้แอบมีความสัมพันธ์แบบลับ ๆ กับชายผู้หนึ่งชื่อว่า Dr. Montesano และได้ตั้งครรภ์จนให้กำเนิดลูกชายที่มีชื่อว่า Mario Montessori และถูกส่งให้ไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์แถบนอกเมือง โดยที่ทุกคนเข้าใจว่าเขาเป็นหลานชายของเธอ แม้กระทั่งตัว Mario เองซึ่งก็มารู้ในภายหลัง

               การที่ Dr. Maria Montessori ได้ให้กำเนิด Mario แล้วทอดทิ้งนั้นอาจทำให้หลายคนที่กำลังศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับเด็กของเธอเกิดความรู้สึกขัดแย้งขึ้นมาได้ ที่จริงแล้ว Dr. Maria ทำลงไปเพราะสังคมในยุคนั้นยังไม่ยอมรับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ก่อนการแต่งงานโดยเฉพาะคนที่มีชื่อเสียงในสังคมและวิชาชีพของตนเองอย่าง Dr. Maria

               Dr. Maria Montessori ก็รู้สึกปวดร้าวเป็นอย่างมากในการที่ต้องทอดทิ้ง Mario เพื่อรักษาสถานภาพทางสังคมและวิชาชีพของตนเองในครั้งนี้ แต่ต่อมามันกลับกลายเป็นแรงกระตุ้นให้เธอทำงานอย่างหนักและอุทิศชีวิตเพื่อการทำงานเพื่อเยาวชนมากขึ้น และยังได้ประสบความสำเร็จในงานของตนเองด้วย จะกล่าวไปแล้ว Dr. Maria อาจจะไม่สามารถเดินทางมาถึงความสำเร็จขั้นนี้ได้หากไม่มี Mario เป็นแรงผลักดันอยู่เบื้องหลัง

               ในปี ๑๙๐๑ Dr. Maria Montessori ได้ลาออกจาก Orthophrenic School และกลับเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งกรุงโรมอีกครั้ง โดยเลือกเรียนด้านปรัชญาและจิตวิทยา เธอยังได้นำงานของ Jean Itard และ Edward Seguin มาแปลเป็นภาษาอิตาลี่ด้วย ทั้งนี้เพื่อความเข้าใจอันลึกซึ้งในทฤษฎีของทั้งสอง

               ในปีค.ศ. ๑๙๐๔ Dr. Maria Montessori ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ด้านการสอนสาขา
มนุษย์วิทยาในมหาวิทยาลัยแห่งกรุงโรม และได้มีผลงานออกมาอีกหลายชิ้น

               สองปีต่อมา Dr. Maria Montessori ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนเด็กเล็กแห่งหนึ่งในกรุงโรมตามโครงการเปลี่ยนชุมชนแออัดเป็นบ้านหลังใหม่ของรัฐบาล โรงเรียนนี้ใช้ชื่อว่า “Casa dei Bambini” หมายถึง “บ้านของเด็ก” ซึ่งมีลักษณะเป็นที่พักพิงขนาดใหญ่ของเด็ก ๆ ที่มีอายุตั้งแต่ ๓ ถึง ๗ ขวบ

               และอีกสองปีต่อมาก็ได้มีการจัดตั้ง“บ้านของเด็ก” นี้ขึ้นอีกสองแห่ง ซึ่งในโรงเรียนเหล่านี้นี่เองที่ Dr.Maria Montessori ได้มีโอกาสนำเอาทฤษฎีของตนเองเข้ามาประยุกต์ใช้กับเด็กปรกติเป็นครั้งแรก เธอมีความเชื่อว่า เมื่อทฤษฎีนี้ใช้ได้ผลเป็นอย่างดีกับเด็กพิการทางสมองก็สามารถนำมาใช้พัฒนาศักยภาพของเด็กปรกติได้เช่นกัน ดังที่เธอได้เขียนไว้ในหนังสือ The Montessori Method, บทที่ ๒ ว่า “ฉันรู้สึกว่ากระบวนการเรียนการสอนของฉัน ที่ใช้กับเด็กที่พิการทางสมองนั้น ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่า วิธีการเดียวกันนี้สามารถทำให้เด็กๆ ที่ปรกติสามารถแสดงความเป็นตัวเองออกมาและรับการพัฒนาได้อย่างดีเยี่ยมเช่นกัน”

Montessori

                เด็กๆในโรงเรียน “บ้านของเด็ก” สองโรงแรกที่จัดตั้งขึ้นนั้นล้วนเป็นเด็กที่ถูกทอดทิ้ง กล่าวคือถูก
ละเลยไม่ได้รับการกระตุ้นการเรียนรู้และเอาใจใส่จากผู้ปกครองเท่าที่ควร และมีอีกหลายรายที่ผู้ปกครองไม่รู้หนังสือเลย และแล้วความหวังของ Dr. Maria Montessori ก็ปรากฏผลออกมา เด็ก ๆ เหล่านั้นเริ่มประสบความสำเร็จในการเรียนมากขึ้น และในโรงเรียนแห่งที่สามนั้น เด็ก ๆ ซึ่งค่อนข้างจะมีพื้นฐานที่ดีกว่าหน่อยเพราะจากมาจากชนชั้นกลาง ก็แสดงให้เห็นถึงผลของการใช้ทฤษฎีของ Dr. Maria Montessori ได้อย่างยอดเยี่ยมเช่นกัน ได้ปรากฏผลออกมาอย่างชัดเจนแล้วว่าเด็กทุกคนมีความสามารถในการเรียนรู้โดยสัญชาติญาณและโดยอิสระ ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวนี้เองได้เป็นกุญแจหลักสำคัญของกระบวนการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่

                 Dr. Maria Montessori มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เมื่อสิ่งพิมพ์ทั่วโลกได้ตีพิมพ์ถึงความสำเร็จในการใช้ทฤษฎีกระบวนการเรียนรู้นี้ และเธอได้กลายเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปีถัดมา

               ในปีค.ศ. ๑๙๑๒ หนังสือเล่มแรกของเธอที่ชื่อว่า ll Metado della Podagogica Scientifica
applicato all’educazione infantile  nelle Casa doi Bambini (1909) ก็ได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ และขายจนหมดภายในสี่วันหลังจากออกวางจำหน่าย และขึ้นเป็นหนังสือขายดีอันดับสองของอเมริกาในปี ค.ศ. ๑๙๑๒

                มีผู้คนจำนวนมากจากทุกมุมโลกเดินทางเข้ามาศึกษาดูงานวิธีการเรียนการสอนของ “บ้านของเด็ก”และเกิดแรงบันดาลใจในการนำหลักสูตร Montessori กลับไปใช้ยังประเทศของตนเองทั่วโลก ทำให้มีโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรของ Montessori นี้แพร่กระจายไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น อเมริกา รัสเซีย ญี่ปุ่น เยอรมัน และอินเดีย

               ขณะที่ Dr. Maria Montessori ได้ใช้เวลากับการทำงานใหม่ๆ คือการฝึกอบรมครู การเขียนหนังสือและการบรรยายตามสถานที่ต่างๆ เขาเริ่มเดินทางไปตามที่ต่างๆบ่อยครั้งขึ้น เพื่อไปเยี่ยมเยียนโรงเรียน Montessori ที่เปิดใหม่หลายแห่งทั่วโลก

               แนวคิดของเธอได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในอเมริกา เธอได้รับเชิญให้ไปเยือนทำเนียบขาว และรับลูกสาวของประธานาธิบดีในขณะนั้น (Margaret Wilson) มาเป็นเลขานุการของโรงเรียน Montessori แห่งหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนจาก Alexandra Graham Bell ซึ่งเป็นผู้คิดค้นโทรศัพท์นั่นเอง

               อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยและพยายามต่อต้านแนวคิดของ Dr. Maria Montessori นั่นคือ
ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาที่มีชื่อว่า William Kilpatrick เขาได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลต่อครูผู้สอนและผู้บริหารโรงเรียนเป็นอย่างมาก ทำให้แนวคิด Montessori ในอเมริกาล่มสลายอย่างรวดเร็วพอๆกับที่เคยแพร่กระจายอย่างรวดเร็วเช่นกัน William Kilpatrick ได้ออกมาโต้แย้งว่า แนวคิดและวิธีปฏิบัติของ Dr. Maria Montessori นั้นอยู่บนรากฐานของทฤษฎีที่ล้าสมัยแล้ว ซึ่งหลังจากนั้นเป็นต้นมา Dr. Maria Montessori ก็ไม่ได้กลับไปยังอเมริกาอีกเลยภายหลังปี ค.ศ. ๑๙๑๘

               การแพร่กระจายและล่มสลายอย่างรวดเร็วของหลักสูตร Montessori ในอเมริกานี้เป็นสิ่งแตกต่าง
จากประเทศอื่น ๆ โดยสิ้นเชิง เนื่องจากทฤษฎีนี้มีการเจริญเติบโตไปทั่วโลกอย่างต่อเนื่องในยุคเดียวกันนั้น

                ในช่วงต้นปี ค.ศ. ๑๙๒๐ Dr. Maria Montessori ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจการโรงเรียนของ
รัฐบาลในประเทศอิตาลี แต่ก็ไม่ได้ดำรงตำแหน่งนี้อยู่นานเนื่องจากเกิดความขัดแย้งในการทำงานกับรัฐบาล Fascist ต่อมาเธอได้ย้ายไปยังประเทศสเปนและก่อตั้งสถาบันฝึกอบรมครูพิเศษขึ้นอีกแห่งหนึ่ง แต่ด้วยความตึงเครียดด้านการเมืองของแถบยุโรปในช่วงปี ค.ศ. ๑๙๓๐ ทำให้เธอต้องย้ายไปยังประเทศฮอลแลนด์ และต่อไปยังประเทศอินเดียในปี ค.ศ. ๑๙๓๙ การขยายตัวของสงครามในช่วงนั้นส่งผลให้เธอต้องใช้ชีวิตอยู่ในอินเดียและทำงานของเธอเองที่นั่นเป็นเวลาหลายปี ทำให้ประเทศอินเดียกลายเป็นศูนย์กลางของหลักสูตร Montessori จนถึงทุกวันนี้

                ในปีค.ศ. ๑๙๔๖ เธอได้กลับไปยังประเทศอังกฤษอีกครั้งและปลุกความสนใจในหลักสูตรนี้ขึ้นมาอีกแล้วเธอก็เริ่มการเดินทางอีกครั้งเพื่อสอนและบรรยายตามประเทศต่างๆ เธอได้รับรางวัลมากมายทั้งจากภาครัฐและเอกชน และได้เสียชีวิตในประเทศฮอลแลนด์เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๕๒ หลังจากนั้นแนวคิดของเธอก็ยังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ

                ในช่วงปี ค.ศ. ๑๙๖๐ เป็นช่วงที่มีการแพร่หลายมากที่สุดทำให้ทั่วโลกหันมาสนใจแนวคิดนี้อีกครั้ง และช่วงปี ค.ศ. ๑๙๗๐ มีโรงเรียน Montessori เกิดขึ้นกว่าหนึ่งพันแห่งในอเมริกา และในประเทศอังกฤษก็มีการแพร่หลายของแนวคิดอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องเช่นกัน